วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มารู้จักกับเรือนอีสาน

                    
หลายคนอาจจะนึกภาพเรือนไทยไม่ออกแล้วว่าเป็นอย่างไร ในวันนี้เราจะมาแนะนำเรือนไทยของภาคอีสานกันก่อน ซึ่งในปัจจุบัน หาดูได้น้อยเต็มที เนื่องจากบ้านทรุดโทรมบวกกับอุปกรณ์การสร้างบ้านสมัยใหม่ที่ทันสมัย แข็งแรง ทนทาน หาง่ายกว่าไม้เข้ามาแทนที่ คืออิฐและปูน เมื่อจะปรับปรุงบ้านหรือสร้างบ้านใหม่คนส่วนมากจึงเลือกที่จะสร้างด้วยปูนมากกว่า
ประโยชน์ของบ้านทรงไทยก็มีหลายอย่างด้วยกัน เช่น 1.ใต้ถุนโล่งสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างทั้งเก็บสิ่งของ และเลี้ยงสัตว์ 2.ใต้ถุนสูงลมโกรกเย็นสบายและน้ำท่วมถึงได้ยาก เป็นต้น
                   
ต่อไปเราจะมารู้จักเรือนไทยอีสานที่ในอนาคตอาจจะเป็นเพียงแค่ประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมไทยก็เป็นได้ ถ้าหากเราไม่รู้จักคุณค่าและไม่ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ให้อยู่คู่กับสังคมไทยให้มากขึ้นกันค่ะ
คำว่า บ้าน  กับ เฮือน (ความหมายเช่นเดียวกับ “เรือน”) สำหรับความเข้าใจของ ชาวอีสานแล้วจะต่างกัน คำว่า “บ้าน” มักจะหมายถึง “หมู่บ้าน” มิใช่บ้านเป็นหลัง ๆ เช่น บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านนาคำแคน หรือบ้านดงมะไฟ เป็นต้น ส่วนคำว่า  เฮือน นั้นชาวอีสานหมายถึงเรือนที่เป็นหลัง ๆ 

นอกจากคำว่า “เฮือน “ แล้ว อีสานยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบแตกต่างกันไป เช่น คำว่า “โฮง” หมายถึงที่พักอาศัยใหญ่กว่า “เฮือน” มักมีหลายห้อง เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองหรือเจ้าครองนครในสมัยโบราณ

คำว่า “คุ้ม” หมายถึง บริเวณที่มี “เฮือน” รวมกันอยู่หลาย ๆ หลัง เป็นหมู่อยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น คุ้มวัดเหนือ คุ้มวัดใต้ และคุ้มหนองบัว เป็นต้น คำว่า “ตูบ” หมายถึง กระท่อมที่ปลูกไว้เป็นที่พักชั่วคราว มุงด้วยหญ้าหรือใบไม้

ชาวอีสานมีความเชื่อในการสร้างเรือนให้ด้านกว้างหันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก ให้ด้านยาวหันไปทางทิศเหนือและใต้ ซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า วางเรือนแบบ “ล่องตาเว็น” (ตามตะวัน) เพราะถือกันว่า หากสร้างเรือนให้ “ขวางตาเว็น” แล้วจะ “ขะลำ” คือเป็นอัปมงคลทำให้ผู้อยู่ไม่มีความสุข

บริเวณรอบ ๆ เรือนอีสานไม่นิยมทำรั้ว เพราะเป็นสังคมเครือญาติมักทำยุ้งข้าวไว้ใกล้เรือน บางแห่งทำเพิงต่อจากยุ้งข้าว มีเสารับมุงด้วยหญ้าหรือแป้นไม้ เพื่อเป็นที่ติดตั้งครกกระเดื่องไว้ตำข้าว ส่วนใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้สอยมากที่สุด จะมีการตั้งหูกไว้ทอผ้า กี่ทอเสื่อ แคร่ไว้ปั่นด้วย และเลี้ยงลูกหลาน

นอกจากนั้นแล้ว ใต้ถุนยังใช้เก็บไหหมักปลาร้า และสามารถกั้นเป็นคอกสัตว์เลี้ยง ใช้เก็บเครื่องมือเกษตรกรรม ตลอดจนใช้จอดเกวียน
                    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น