วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

Amazing Thai Architecture w.music by Small Village Ensemble

สถาปัตยกรรมไทย Thai Architecture

          สถาปัตยกรรมไทย หมายถึงศิลปะการก่อสร้างของไทย อันได้แก่ อาคาร  บ้านเรือน โบสถ์  วิหาร  วัง สถูป และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ   ที่มี มูลเหตุที่มาของการก่อสร้าง    การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในแต่ละ ท้องถิ่น จะมีลักษณะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง ตามสภาพทาง ภูมิศาสตร์ และคตินิยมของแต่ละท้องถิ่น  แต่สิ่งก่อสร้างทางศาสนาพุทธมักจะมีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนัก   เพราะมีความเชื่อ ความศรัทธาและแบบแผนพิธีกรรมที่เหมือน ๆ กัน สถาปัตยกรรมที่ มันนิยมนำมาเป็นข้อศึกษา มักเป็น  สถูป   เจดีย์   โบสถ์   วิหาร หรือ พระราชวัง  เนื่องจากเป็นสิ่งก่อสร้างที่คงทน    มีการพัฒนารูปแบบมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน  และได้รับการสรรค์สร้างจากช่างฝีมือที่ เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งมีความเป็นมาที่สำคัญควรแก่การศึกษา    อีกประ การหนึ่งก็คือ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ ล้วนมีความทนทาน  มีอายุยาวนาน ปรากฎเป็นอนุสรณ์ให้เราได้ศึกษาเป็นอย่างดี  สถาปัตยกรรมไทย สามารถจัดหมวดหมู่ ตามลักษณะการใช้งานได้   2   ประเภท  คือ

            1. สถาปัตยกรรมที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย   ได้แก่  บ้านเรือน  ตำหนัก  วังและพระราชวัง เป็นต้น บ้านหรือเรือนเป็นที่อยู่อาศัยของสามัญชน
ธรรมดาทั่วไป ซึ่งมีทั้งเรือนไม้ และเรือนปูน  เรือนไม้มีอยู่   2   ชนิดคือ เรือนเครื่องผูก เป็นเรือนไม้ไผ่  ปูด้วยฟากไม้ไผ่    หลังคามุงด้วย ใบจาก  หญ้าคา    หรือใบไม้   อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า   เรือนเครื่องสับ เป็นไม้จริงทั้งเนื้ออ่อน และเนื้อแข็ง ตามแต่ละท้องถิ่น    หลังคามุง ด้วยกระเบื้องดินเผา   พื้นและฝาเป็นไม้จริงทั้งหมด    ลักษณะเรือน ไม้ของไทยในแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน        และโดยทั่วไปแล้วจะมี ลักษณะสำคัญร่วมกันคือ   เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว   ใต้ถุนสูง   หลังคา ทรงจั่วเอียงลาดชันตำหนัก และวัง เป็นเรือนที่อยู่ของชนชั้นสูง พระราชวงศ์  หรือ ใช้เรียกที่ประทับชั้นรอง ของพระมหากษัตริย์  สำหรับพระราชวัง เป็นที่ประทับของพระมหากษัติรย์      พระที่นั่ง เป็นอาคารที่มีท้อง พระโรงซึ่งมีที่ประทับสำหรับออกว่าราชการ หรือกิจการอื่น ๆ

             2. สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบิรเวณสงฆ์ ที่เรียกว่า วัด ซึ่งประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรมหลายอย่าง      ได้แก่ โบสถ์ เป็นที่กระทำสังฆกรรมของพระภิกษุ    วิหารใช้ประดิษฐาน พระพุทธรูปสำคัญ และกระทำสังฆกรรมด้วยเหมือนกัน กุฎิ เป็นที่ อยู่ของพระภิกษุ  สามเณร     หอไตร  เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก และคัมภีร์สำคัญทางศาสนา  หอระฆังและหอกลอง   เป็นที่ใช้เก็บ ระฆังหรือกลองเพื่อตีบอกโมงยาม หรือเรียกชุมนุมชาวบ้าน   สถูป เป็นที่ฝังสพ  เจดีย์ เป็นที่ระลึกอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา  ซึ่งแบ่งได้ 4  ประเภท คือ
     1. ธาตุเจดีย์ หมายถึง พระบรมธาตุ และเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า 
    

      2. ธรรมเจดีย์ หมายถึง  พระธรรม   พระวินัย คำสั่งสอนทุกอย่างของพระพุทธเจ้า
     3. บริโภคเจดีย์ หมายถึง สิ่งของเครื่องใช้ของพระพุทธเจ้า  หรือ ของพระภิกษูสงฆ์ได้แก่ เครื่องอัฐบริขารทั้งหลาย
     4. อุเทสิกเจดีย์ หมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้น     เพื่อเป็นที่ระลึกถึงองค์  พระพุทธเจ้า เช่น สถูปเจดีย์ ณ สถานที่ทรงประสูติ   ตรัสรู้   แสดงปฐมเทศนาปรินิพพาน   และรวมถึงสัญลักษณ์อย่างอื่น เช่น พระพุทธรูป  ธรรมจักร  ต้นโพธิ์  เป็นต้น

ชมสถาปัตยกรรมไทยลื้อที่ วัดท่าฟ้าใต้



วัดท่าฟ้าใต้ ตั้งอยู่บนเส้นทางสายปง-เชียงม่วน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2311 โดยครูธรรมเสนาและพ่อเฒ่าแสนอัฐิ ผู้นำชาวไทลื้อซึ่งอพยพมาจากสิบสองปันนา

ลักษณะตัวพระอุโบสถเป็นทรงเตี้ยก่ออิฐถือปูน หลังคาสามชั้นมุงด้วยแป้นเกล็ดตามแบบสถาปัตยกรรมไทยลื้อ

องค์พระประธานแกะสลักจากไม้ประดู่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 117.5 เซนติเมตร สูง 227.5เซนติเมตร ซึ่งอัญเชิญมาจากสิบสองปันนา ประดิษฐานบนฐานชุกชีทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมศิลปะไทลื้อ ประดับด้วยลายปูนปั้นรูปเครือเถาลงรักปิดทอง ประดับกระจก
มีแท่นธรรมาสน์ ลักษณะคล้ายมณฑปหรือปราสาท ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมยี่สิบชั้นประดับลายปูนปั้นรูปเครือเถาและสัตว์ต่าง ๆ เช่น กวาง ช้าง ม้า นกยูง ลักษณะเด่นคือลวดลายดอกไม้ที่แพรวพราวไปด้วยกระจกประดับหลายสี

http://travel.thaiza.com/9/174484/

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

เรือนไทยาคกลาง

เรือนไทยภาคกลาง เป็นเรือนไทยประเภทที่นิยมที่สุด มีลักษณะเป็นเรือนยกพื้น ใต้ถุนสูง สูงจากพื้นดินเสมอศีรษะคนยืน รูปทรงล้มสอบ หลังคา ทรงสูงชายคายื่นยาว เพื่อกันฝนสาด แดดส่อง นิยมวางเรือนไปตามสภาพแวดล้อมทิศทางลมตามความเหมาะสม
ถือเป็นแบบฉบับของเรือนไทยเดิมที่เราคุ้นเคยกันดี ในรูปแบบ เรือนฝาปะกนถือเป็น เรือนไทยแท้ เรือนไทยฝาปะกน คือเรือนที่ฝาทำจากไม้สัก มีไม้ลูกตั้งและลูกนอน และมีแผ่นไม้บางเข้าลิ้นประกบกัน สนิทหน้าจั่วก็ทำด้วยวิธีเดียวกัน เราจะพบเห็นเรือนไทยภาคกลาง รูปแบบต่าง ๆ อาทิ เรือนเดี่ยว เรือนหมู่ เรือนหมู่คหบดี และ เรือนแพ
























ประเภทเรือนไทยภาคกลาง

  • เรือนแพ
การสร้างบ้านบริเวณชายฝั่งต้องยกพื้นชั้นบนสูงมาก ไม่สะดวกในหน้าแล้งทำให้เกิดการสร้างเรือนในลักษณะ " เรือนแพ " ที่สามารถปรับระดับของตนเองขึ้นลงได้ตามระดับน้ำในแม่น้ำลำคลอง

  • เรือนหมู่คหบดี
เรือนหมู่คหบดีโบราณ เป็นเรือนสำหรับผู้มีอันจะกิน ลักษณะการจัดเรือนหมู่คหบดีของโบราณเป็นเรือนขนาดใหญ่มีเรือนคู่และเรือนหลังเล็กหลังน้อยรวมเข้าด้วยกัน แต่ละหลังใช้ประโยชน์ต่างหน้าที่กันออกไป ประกอบด้วย เรือนนอน เรือนลูก เรือนขวาง เรือนครัว หอนก และชาน
  • เรือนหมู่
เรือนหมู่ คือ เรือนหลายหลังซึ่งปลูกอยู่ในที่เดียวกัน สมัยก่อนลูกชายแต่งงานส่วนใหญ่จะไปอยู่บ้านผู้หญิง ส่วนลูกผู้หญิงจะนำเขยเข้าบ้าน จะอยู่เรือนหลังย่อมกว่า เรือนหลังเดิมเรียกว่า “หอกลาง” ส่วนเรือนนอกเรียกว่า “หอรี” เพราะปลูกไปตามยาว ถ้ามีเรือนปลูกอีกหลังหนึ่งเป็นด้านสกัดก็เรียกว่า “หอขวาง” อาจมี“หอนั่ง”ไว้สำหรับนั่งเล่น บางแห่งมี“หอนก” ไว้สำหรับเลี้ยงนก



  • เรือนเดี่ยว
เป็นเรือนสำหรับครอบครัวเดี่ยว สร้างขึ้นโดยมีประโยชน์ใช้สอยที่เพียงพอกับครอบครัวเล็ก ๆอาจ เป็นเรือนเครื่องผูกเครื่องสับ หรือผสมผสานกันก็เป็นได้แล้วแต่ฐานะ ประกอบด้วย เรือนนอน 1 หลัง เรือนครัว 1 หลัง ระเบียงยาว ตลอดเป็นตัวเชื่อมระหว่างห้องนอนกับชาน



ลักษณะของเรือนไทยภาคกลาง

เรือนไทยภาคกลาง ยกใต้ถุนสูง สูงจากพื้นดินประมาณพ้นศีรษะ รวมทั้งระเบียงและชานก็ยกสูงด้วย การยกใต้ถุนสูงนี้มีระดับลด หลั่นกัน พื้นระเบียงลดจากพื้นห้องนอน 40 เซนติเมตรพื้นชานลดจากระเบียงอีก 40 เซนติเมตรและปิดด้วยไม้ระแนงตีเว้นช่องโปร่ง การลดระดับ พื้นทำให้ได้ประโยชน์ดังนี้ คือ ช่วยให้ลมพัดผ่านจากใต้ถุนขึ้นมาข้างบน สามารถมองลงมายังใต้ถุนชั้น ล่างได้ และใช้ระดับลด 40 เซนติเมตรไว้เป็นที่นั่งห้อยเท้า
หลังคาทรงจั่วสูงชายคายื่นยาว หลังคาของเรือนไทยเป็นแบบทรงมนิลา ใช้ไม้ทำโครงและใช้จาก แฝกหรือกระเบื้องดินเผาเป็นวัสดุมุงหลังคา วัสดุเหล่านี้ต้องใช้วิธีมุงตามระดับองศาที่สูงชันมาก น้ำฝนจึงจะไหลได้เร็ว ไม่รั่ว การทำหลังคา ทรงสูงนี้ มีผลช่วยบรรเทาความร้อนที่จะถ่ายเทลงมายังส่วนล่าง ทำให้ที่พักอาศัยหลับนอนเย็นสบาย สำหรับเรือนครัวทั่วไปตรงส่วนของหน้า จั่วทั้ง 2 ด้าน ทำช่องระบายอากาศ โดยใช้ไม้ตีเว้นช่องหรือ ทำเป็นรูปรัศมีพระอาทิตย์ เพื่อถ่ายเทควันไฟออกจากเรือนครัวได้สะดวก ชายคากันสาดให้ยื่นออกจากตัวเรือนมาก เพื่อกันแดดส่องและฝนสาด
ชานกว้าง โดยทั่วไปมีปริมาณถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด ถ้ารวมพื้นที่ของระเบียงเข้าไปด้วยจะมีปริมาณถึงร้อยละ 60 พื้นที่นี้เป็นส่วนอาศัยภายนอก ส่วนที่อาศัยหลับนอนมีฝา กั้นเป็นห้อง มีเนื้อที่เพียงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด สาเหตุที่พื้นที่


ฐานรากของบ้านเรือนไทย

พวกเราหลายคนอาจจะสงสัยว่าอาคารไทยใหญ่โตที่สร้างมาหลายร้อยปี ก่อนการใช้ระบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กด้วยวิทยาการตะวันตกนั้น ฐานรากใต้ดิน สำหรับผืนดินที่มีสภาพดินอ่อนของอาคารไทยและเรือนไทยนั้นทำกันอย่างไร และชาว ไทยใช้ภูมิปัญญาใดในการทำระบบฐานรากของเรือนไทยเดิม

ระบบฐานรากทั่วไปแล้วก็คือส่วนฐานที่รองรับน้ำหนักโดยตรงของเสาบ้าน และพยายามแผ่บานออกเพื่อถ่ายน้ำหนักสู่พื้นดินให้มากที่สุด ซึ่งฐานรากของเรือนไทย เดิมของเราจะใช้ไม้ตีขัดกันเป็นรัศมีรอบเสา หากเป็นไม้เหลี่ยมๆก็จะเรียกว่า “กงพัด” หากเป็นซุงท่อนกลมๆก็จะเรียกว่า “งัว” หรือถ้าเป็นไม้แผ่นกลมๆรัดรอบเสาให้เป็นฐาน รากกลมๆก็จะเรียกว่า “แระ หรือ ระแนะ” โดยฐานรากเหล่านี้พยายามให้อยู่ใต้ระดับน้ำ ใต้ดินหรือสูงกว่าระดับน้ำใต้ดิน ไม่วางอยู่ในระดับที่เกิดน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อป้องกันการผุ กร่อนจากการสลับชื้นสลับแห้งเวลาเกิดน้ำขึ้นหรือน้ำลง 


 

สถาปัตยกรรมไทยในต่างแดน

สถาปัตยกรรมบ้านไทยไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่มีสถาปนิกชาวไทยที่มองเห็นความสำคัญของสถาปัตยกรรมไทยและได้นำบ้านไทยไปปลูกสร้างในต่างประเทศ เป็นการเผยแพร่ให้ชาวต่างประเทศได้เห็นและชื่นชมในความสามารถของคนไทยและงานสถาปัตยกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งสร้างความประทับใจแก่ชาวต่างชาติเป็นอย่างมากในหลาย ๆ ประเทศและก็นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทยอย่างมากเช่นเดียวกัน

    สถาปัตยกรรมไทยเป็นงานที่เป็นภูมิปัญญาของไทยมาตั้งแต่โบราณแล้ว ประเทศไทยเรานั้นเป็นประเทศที่มีความเป็นอิสระภาพมาช้านาน ไม่ได้ถูกปกครองโดยคนต่างชาติหรือประเทศในยุโรป เราเป็นประเทศที่มีการสร้างศิลปวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานมาก เมื่อพูดถึงเรือนไทยหรือสถาปัตยกรรมไทยที่เป็นเรือนไทย ก็หมายถึงบ้านพักอาศัยของคนไทยตั้งแต่โบราณมา ในสมัยก่อนเราไม่มีวัสดุมากมายเหมือนอย่างที่มีอยู่ทุกวันนี้ เรามีต้นไม้เป็นหลักในการใช้ที่จะเอามาสร้างเป็นที่พักอาศัย เรา สามารถที่จะทำอิฐดินเผาได้ แต่ในสมัยก่อนหน้าขึ้นไปแทบจะไม่มีเหมือนกันอย่างเช่นต้นรัตนโกสินทร์หรือในสมัยอยุธยาก็อยู่เรือนมุงหลังคาจากหรือแฝก หรือถ้าเป็นทางเหนือเมืองเหนือก็ใช้ตองตึงอย่างนั้น พอมาถึงระยะหลัง ๆ เราก็ทำกระเบื้องได้เอง เผากระเบื้องเองได้ เรามีวัสดุที่ใช้เป็นหลักอยู่ 2 อย่าง คือ

    1. กระเบื้อง
    2. ไม้

เราไม่มีตะปู ไม่มีเหล็ก ก็จะเห็นได้จากภูมิปัญญาของไทย เช่น ในการที่จะนำไม้มาประสานกันขึ้นให้เป็นตัวเรือน ก็ถือว่าเป็นภูมิปัญญาที่ยอดเยี่ยมมาก ใช้สลัก ใช้เดือยและใช้ลูกประสาน (ประสัก)เข้ายึดด้วยกันออกมาเป็นเรือน ซึ่งสามารถเข้าไปพักอาศัยได้ และวัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ อย่างเช่นไม้ถ้าหากว่าเป็น ในภาคกลางหรือว่าทางเหนือ ไม้สักเป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุดนิยมนำมาใช้กันมาก เพราะจะเห็นได้จากระยะต้นของกรุงรัตนโกสินทร์จะมีเรือนไทยที่ใช้กันทุกระดับชั้น อย่างเช่นว่าใช้สำหรับประชาชนธรรมดา ทำนาทำพืชไร่ไม้สักหาได้ง่ายก็นำมาใช้

 

กำเนิดหมู่บ้านไทย

โดยทั่วไปหมู่บ้านไทยที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งออกเป็น ลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้คือ1. ลักษณะหมู่บ้านริมแม่น้ำลำคลอง    โดยทั่วไปสภาพของหมู่จะเกิดการรวมตัวกันขึ้นโดยธรรมชาติตามลักษณะสภาพภูมิศาสตร์ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพ สำหรับประเทศไทย คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน ฯลฯ ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะนอกจากใช้เพื่อการเพาะปลูกแล้ว น้ำยังมีความจำเป็นสำหรับกิน อาบและเป็นเส้นทางคมนาคมจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วย

    การคมนาคมสมัยก่อนมีทั้งทางบกและทางน้ำ แต่โดยทั่วไปเส้นทางสัญจรที่สะดวกและนิยมมากที่สุดคือทางน้ำ ด้วยความสะดวกนี้จึงทำให้หมู่บ้านเกิดขึ้นตามริมแม่น้ำลำคลอง หรือที่เรียกว่า "
หมู่บ้านริมน้ำ"

    หมู่บ้านริมน้ำนี้มักมีชื่อขึ้นต้นคำว่า "บาง" ซึ่งในที่นี้หมายถึง หมู่บ้านหรือร้านค้าซึ่งปลูกเรียงรายไปตามแม่น้ำ ลำคลอง หรือบริเวณใกล้ทะเล เช่น บางกอกน้อย บางปลาม้า บางปะกอก ฯลฯ

    เมื่อหมู่บ้านกำเนิดขึ้นแล้วสิ่งจำเป็นอื่นๆ ก็มักเกิดตามมาภายหลังได้แก่ ตลาด วัด สำหรับตลาดนั้นเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน เช่น ครอบครัวหนึ่งมีข้าวก็นำมาแลกกับเสื้อผ้า เป็นต้น ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแทน

 2. ลักษณะหมู่บ้านดอน

        กรณีที่ไร่นาอยู่ห่างจากแม่น้ำลำคลอง ก็อาจมีหมู่บ้านเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่บริเวณที่เป็นที่ตั้งหมู่บ้านมักตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งสูงกว่าไร่นา ชาวบ้านจะสร้างบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน และแยกย้ายกันออกไปทำนา

         ในหมู่บ้านมักมีสระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่เพื่อไว้กินไว้ใช้ ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรกรรมนั้นจะได้มาจากน้ำฝนและน้ำบ่าในเดือน 11 และ 12 หมู่บ้านลักษณะนี้เรียกว่า "บ้านหรือดอน" เช่น บ้านโป่งลาน บ้านทับกระดาน บ้านโพธิ์ ดอนกลาง ดอนเจดีย์ เป็นต้น
   3. ลักษณะหมู่บ้านกระจัดกระจาย
        หมู่บ้านลักษณะนี้เกิดจากการวมตัวของบ้านเรือนหลายๆ หลัง ซึ่งแต่ละหลังจะอยู่อย่างกระจัดกระจายและโดดเดี่ยว กล่าวคืออยู่เป็นหลังๆ ห่างกันมาก โดยทั่วไปแล้วเรือนแต่ละหลังมักตั้งอยู่ในที่นาหรือที่สวนของตนเอง หมู่บ้านลักษณะนี้จะลำบากต่อการพัฒนา ดังจะเห็นได้จากหมู่บ้านในบางส่วนของภาคกลาง ซึ่งสภาพความเป็นอยู่ สังคม ประเพณี และความสัมพันธ์ฉันเครือญาติของหมู่บ้านจะไม้เข้มข้นเท่าหมู่บ้านลักษณะอื่นๆ


 

บ้านไทยประยุกต์

 บ้านไทยแบบประยุกต์ที่เห็นในปัจจุบันส่วนมากจะมีวิธีผสมผสาน 2 แบบ คือ
    1.ประยุกต์แบบ ตัดต่อ เช่น ชั้นบนไทยชั้นล่างปูน หรืออาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาจั่วไทย เป็นต้น

    2.ประยุกต์แบบ เชื่อมโยง เช่น อาคารก่ออิฐ ถือปูน แต่มีคิ้วบัวย่อมุมตามแบบไทย หรือนำเอาบานหน้าต่างยกแผงจากบ้านไทยมาใช้เลย หรือบางทีก็ละเมียดขนาดที่ว่าดึงเอาเพียงรูปร่าง รูปทรง สี ที่ว่างบางประการจาก บ้านไทยโบราณ มาออกแบบใหม่ อันนี้เรียกว่าระดับเซียน

    อย่างไรก็ดี การทำ บ้านไทยประยุกต์ ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อการอยู่อาศัยที่สุขสบาย สะดวก เป็นประเด็นหลัก ขึ้นอยู่กับกลวิธีของการประยุกต์ว่าเรามีความเข้าใจ ความละเอียดอ่อน ในการเชื่อมโยงมากน้อยเพียงใด สิ่งที่ปรากฏก็จะแสดงตัวตนและรากเหง้าทาง ภูมิปัญญาไทย ของเราเอง

บ้านเรือนไทยกับพลังงาน

บ้านไทยเรือนไทยส่วนใหญ่จะทำด้วยไม้และวัสดุเบาๆ ซึ่งวัสดุเบาๆเหล่านี้จะ เก็บความร้อนและกันความร้อนได้น้อย ตอนกลางวันเมื่อมีความร้อน ความร้อนก็จะ ถ่ายเข้าสู่ตัวบ้านได้อย่างรวดเร็ว แต่คนไทยเราตอนกลางวันก็ไม่ใช้ชีวิตอยู่ในห้อง จะอยู่ นอกชานใต้ถุนบ้าน หรือในทุ่งนาเรือกสวน ความร้อนที่เข้ามาในห้องจึงไม่มีผลกับชีวิต เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตในห้อง แต่พอตอนเย็นค่ำกลางคืน ด้วยความที่บ้านทำด้วยวัสดุเบาก็ จะคลายความร้อนออกอย่างรวดเร็ว ทำให้ภายในห้องไม่ร้อนอบอ้าว สามารถใช้ชีวิตใน ห้องได้อย่างสุขสบาย ซึ่งจะแตกต่างจากบ้านปัจจุบันที่สร้างเป็นตึก อมความร้อนได้มาก พอกลางคืนความร้อนก็ยังระอุอยู่ในห้องและที่ผนังอิฐ เราก็จะอยู่ไม่สบาย จนการติด เครื่องปรับอากาศทำความเย็นกลายเป็นเรื่องจำเป็น แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของบ้านไทยที่ เป็นวัสดุเบานั้นก็คือ บ้านไทยจะต้องสร้างอยู่ในสถานที่ที่ “มีสภาพแวดล้อมดี” มิเช่น นั้น ด้วยความเป็นวัสดุเบาและมีช่องให้อากาศเข้า จะเชื้อเชิญให้ทั้งฝุ่น เสียง อากาศเสีย เข้ามาในบ้านได้ตลอดเวลา ....การสร้างบ้านไทยเดิมในปัจจุบันจึงต้องพิจารณาถึงสถาน ที่ตั้งและสภาพแวดล้อมเสมอ


สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์และสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเหมือนกรงศรีอยุธยาแห่งที่สอง กล่าวคือได้มีการสร้างสถาปัตยกรรมที่สำคัญ โดยเลียนแบบอย่างมาจากกรุงศรีอยุธยารวมไปถึงสถาปัตยกรรมประเภท บ้านพักอาศัย เรือนไทยบางเรือนที่ยังคงเหลือจากการทำศึกสงครามกับพม่าก็ถูกถอดจากกรุงศรีอยุธยามาประกอบที่กรุงเทพมหานคร


กรุงเทพมหานครกลายเป็นมหานครศูนย์กลางแห่งหนึ่งที่รวบรวมเอาผู้คนหลายหลายชาติวัฒนธรรมเข้ามารวมอยู่ด้วยกันไม่ว่าจะเป็น แขก (อินเดีย) ฝรั่ง (ชาติตะวันตก) และ จีน ที่มีการซึมซับวัฒนธรรมอื่นมาทีละน้อย หลักฐานในยุคนั้นไม่ปรากฏเท่าไร เนื่องจากผุพังไปตามสภาพกาลเวลา แต่จะเห็นได้จากภาพตามจิตรกรรมฝาผนังของวัดต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยนั้น รวมถึงรูปแบบบ้านพักอาศัยซึ่งมีตึกปูนแบบจีนอยู่ค่อนข้างมาก
      ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นยุคทองแห่งศิลปะจีน มีการใช้การก่ออิฐถือปูนและใช้ลวดลายดินเผาเคลือบประดับหน้าบันแทนแบบเดิม

      สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้นดังเช่น วัดนิเวศธรรมประวัติ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศิลปะแบบกอธิค

      ต่อมาในยุคที่มีการล่าอาณานิคม พระมหากษัตริย์ของเราก็ทรงพระปรีชาสามารถเลือกหนทาง การประนีประนอม ไม่ให้เสียเอกราชไปโดยที่เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมความเป็นอยู่ของตัวเอง สถาปัตยกรรมไทยในสมัยนั้นจึงมีหน้าตาเป็นแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก บ้านเรือนเปลี่ยนรูปแบบเป็นตึกก่ออิฐถือปูน มีการวางผังแบบสากลและตายตัว ไม่ใช้ Open Plan แบบเก่า มีการกั้นห้องเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น รับแขก รับประทานอาหาร นั่งเล่น เป็นต้น

      สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้แบ่งประเภท ของบ้านเรือนในกรุงเทพตามแบบวัฒนธรรมออกเป็น 3 แบบ คือ

 

  1. แบบเดิม คือ แบบเรือนของผู้มีฐานะ (ระดับ)เดียวกัน เคยทำมาอย่างไรก็ทำมาอย่างนั้น มิได้คิดเปลี่ยนแปลงยกตัวอย่างเช่น วังเจ้าบ้านนายขุน
  2. แบบผสม คือ เอาตึกฝรั่งหรือเก๋งจีนมาสร้างแทรกเข้าบ้าง เข้าใจว่าเกิดขึ้นในรัชการที่ 4 และต่อมาจนต้นรัชกาลที่ 5 ดังตัวอย่างที่มีเก๋ง และ การแก้ไขตำหนักที่วังท่าพระ เป็นต้น
  3. เปลี่ยนเป็นอย่างใหม่ คือ เลิกสร้างเรือนแบบไทยเดิม และตึกฝรั่ง เก๋งจีน คิดทำเป็นตึกฝรั่งทีเดียว เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5

      อย่างไรก็ตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมในสมัยนั้นก็คงเอกลักษณ์ไทยเอาไว้บ้าง เช่นการนำหน้า ตาสถาปัตยกรรมไทยเข้ามาใส่ด้านหน้าของตึก ไม่ว่าจะเป็น ลายฉลุไม้ หลังคา ทรงจั่ว

องค์ประกอบต่างๆของเรือนไทย

งัว    กงพัด   แระ (ระแนะ)   เสาเรือน  รอด   รา   ตง  พรึง  พื้น  ฝักมะขาม  ฝา กันสาด  เต้า  สลัก-เดือย  ค้างคาว หัวเทียน ขื่อ ดั้ง อกไก่ จันทัน แป กลอน ระแนง เชิงชาย ตะพานหนู ปั้นลม หน้าจั่ว หลังคา ไขรา คอสอง ร่องตีนช้าง ช่องแมวรอด ประตูห้อง ประตูรั้วชาน หน้าต่าง กระได