วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ฮูปแต้มสิม : วัดสนวนวารีพัฒนาราม

โบสถ์ หรือ อุโบสถ ในภาคอีสาน เรียกว่า สิม ที่มาจากคำว่า สีมา หรือ เสมา  อันหมายถึง หลักแสดงเขตของสงฆ์

         สิมอีสานมีขนาดและรูปลักษณ์แตกต่างจากโบสถ์ภาคกลางอย่างเด่นชัด  สะท้อนให้เห็นถึงคติการดำรงชีวิตที่สงบ เรียบง่าย พึ่งพึงธรรมชาติ

สิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม

         
ก่อนอื่นคงต้องลบภาพอุโบสถทรงสูงชะลูดมีช่อฟ้า  ใบระกา  หางหงส์  เป็นเครื่องประกอบหลังคาอย่างที่เห็นชินตาในแถบภาคกลางออกเสียก่อน  แล้วเริ่มต้นนึกภาพใหม่ เป็นอาคารขนาดเล็กก่อด้วยอิฐ บ้างสร้างด้วยไม้ บ้างหลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด  บ้างก็มุงด้วยหญ้าตามแต่จะหาได้  สมัยนี้เห็นมุงด้วยสังกะสีก็หลายแห่ง   


         ที่แปลกไปจากภาคอื่น ๆ อีกอย่าง คือ ภาพจิตรกรรม ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า ฮูปแต้ม ปกติจะเห็นว่าเขียนไว้ที่ผนังด้านในของพระอุโบสถ  แต่แถบภาคอีสานตอนบนนิยมเขียนทั้งด้านในและด้านนอก  ซึ่งมีเหตุผลอธิบายได้อย่างเข้าที คือ สิมมีขนาดเล็กมาก  เนื่องจากทำขึ้นเพียงเพื่อให้พระสงฆ์ประกอบสังฆกรรมเท่านั้น 
         ญาติโยม  โดยเฉพาะผู้หญิง ต้องนั่งฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ด้านนอก ดังนั้นหากเขียนภาพแต่ด้านใน  ก็คงจะขัดเกลาจิตใจให้เห็นธรรมได้เฉพาะเพียงพระเท่านั้น  จึงเกิดความคิดเขียนภาพด้านนอก  เพื่อฉลองศรัทธาญาติโยมที่มาฟังธรรมที่วัด  ให้ได้มีโอกาสชื่นชมกับจิตรกรรมที่แฝงคติธรรมและเรื่องราวสนุกสนานตามประสาชาวบ้านไปด้วย


         ภายในนิยมเขียนภาพพุทธประวัติ และเรื่องราวเกี่ยวกับชาดก  ส่วนภายนอกสำหรับอุบาสก อุบาสิกาชมนั้น นิยมนำนิทานพื้นบ้านที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชิงรักหักสวาท  การผจญภัยของตัวละครเอกมาแสดงภาพโดยสอดแทรกคติธรรม การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว และบรรยายภาพการถูกลงโทษในนรกไว้ให้น่ากลัว ดังเช่น ฮูปแต้มวัดสนวนวารีฯ ที่จะนำมาเสนอในที่นี้ 
         วัดสนวนวารีฯ  มีชื่อเต็มว่า  วัดสนวนวารีพัฒนาราม  เดิมชื่อวัดชนวน เพราะมีต้นขนวนอยู่ภายในวัด เมื่อเวลาผ่านไปจึงเพี้ยนจาก ขนวน มาเป็น สนวน วัดนี้สร้างราว พ.ศ. ๒๔๖๕  โดยการบริจาคตามกำลังศรัทธาของชาวบ้าน รวบรวมได้สองร้อยบาท  มีช่างญวนเป็นช่างใหญ่และเป็นช่างแต้ม  ส่วนสิมนั้นสร้างหลังจากสร้างวัดสองปี

         สิมวัดสนวนวารีฯ  เป็นอาคารก่ออิฐขนาดสามห้อง กว้างประมาณ ๕.๓๐ เมตร ยาวประมาณ ๗ เมตร  มีทางเข้าด้านหน้าด้านเดียวคือทางทิศตะวันออก  ผนังด้านข้างเจาะวงโค้งแบบนิยมของญวนแทนการใส่บานหน้าต่าง   
         ฮูปแต้มด้านนอกเขียนไว้เหนือแนววงโค้ง  เริ่มจากผนังด้านทิศใต้ต่อเรื่อยไปทางตะวันตก  ทิศเหนือ  จนสุดผนังด้านทิศตะวันออก แต่ยังไม่จบเรื่อง ช่างก็กระโดดไปต่อเรื่องจนจบที่ผนังด้านหลัง (ตะวันตก) เนื่องจากเป็นด้านเดียวที่พอมีพื้นที่เหลือ


ภายในอุโบสถ (สิม)
         ส่วนฮูปแต้มด้านในก็คล้ายกัน  คือเริ่มจากผนังด้านทิศเหนือต่อเรื่อยไปทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกจนสุดผนัง  ยังไม่จบเรื่อง กระโดดไปต่อจนจบที่ผนังด้านหลัง (ตะวันตก)  ที่เห็นอย่างนี้อย่าคิดว่าผิดแบบธรรมเนียมแต่อย่างใด  เพราะสิมที่มีฮูปแต้มของอีสานเกือบทุกแห่งเป็นอย่างนี้ 
         ช่างเขียนภาพไป  บางทีนึกขึ้นได้ว่าลืมตอนสำคัญ ก็มองหาที่ว่าง จะแทรกตรงไหนได้บ้าง  ดังนั้นผู้ที่จะดูภาพเข้าใจ  ก็ต้องมีพื้นความรู้เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านอีสานไว้บ้าง เพราะนอกจากบางครั้งจะไม่วาดตามลำดับเรื่องราวแล้ว  บางทียังแปลงเรื่องใหม่สุดแท้แต่ความนิยม และความรู้ของช่าง  สร้างสรรค์กันได้อย่างอิสระ  ไม่มีกรอบหรือแบบแผนที่ต้องเคร่งครัดเหมือนงานช่างหลวง



เรือนไทยภาคใต้

ภาคใต้ของประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างไปจากภาคอื่น ๆ ของประเทศ กล่าวคือ มีลักษณะเป็นแหลมหรือคาบสมุทรยื่นออกไปจนจรดประเทศมาเลเซีย ล้อมรอบด้วยฝั่งทะเล โดยมีอ่าวไทยอยู่ทางฝั่งทะเลตะวันออก และทะเลอันดามันอยู่ทางฝั่งทะเลตะวันตก ด้านสภาพภูมิอากาศของภาคใต้เป็นอาณาบริเวณที่มีอากาศร้อนฝนตกชุก ความชื้นสูงมี 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อนและฤดูฝน ในฤดูร้อนอากาศจะไม่ร้อนจัดเหมือนภาคอื่น เนื่องจากได้รับการถ่ายเทความร้อนจากลมทะเลที่พัดผ่านอยู่ตลอดเวลา ในฤดูฝนฝนจะตกชุกมากกว่าภาคอื่น ทั้งนี้เพราะได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศดังกล่าวนี้ มีอิทธิพลสำคัญต่อการกำหนดรูปแบบเรือนพักอาศัยของประชาชนในภาคใต้ เช่น การออกแบบรูปทรงหลังคาให้คาให้ลาดเอียงมาก เพื่อระบายน้ำฝนจากหลังคาการการใช้ตอม่อหรือฐานเสาแทนที่จะฝังเสาเรือนลงไปในดิน ฯลฯ
ด้านสภาพสังคมและวัฒนธรรม ประชากรในภาคใต้มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิม ชาวไทยเหล่านี้มีขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมจะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับภาคใต้ ได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งส่งผลให้เรือนพักอาศัยของชาวไทยใน 4 จังหวัดภาคใต้ หรือ “เรือนไทยมุสลิม” มีลักษณะร่วมกับเรือนพักอาศัยทางตอนเหนือของมาเลเซีย  
ลักษณะเรือนไทยภาคใต้ (เรือนไทยมุสลิม)
บ้านเรือนนับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ เพื่อป้องกันอันตรายจากลมฟ้าอากาศและสัตว์ร้ายซึ่งต้องเหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ตลอดจนจารีตประเพณีทางสังคม และรูปแบบการดำเนินชีวิต สำหรับเรือนไทยมุสลิม นอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ดังกล่าวแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศาสนาอิสลามที่มีต่อการสร้างบ้านเรือนอย่างแท้จริง ทั้งในรูปแบบการใช้พื้นที่ การอยู่อาศัย การประกอบกิจกรรมในการดำรงชีวิต และการประดับตกแต่งตัวเรือนให้งดงาม โดยทั่วไปเรือนมุสลิมมักเป็นเรือนแฝด และสามารถต่อขยายไปได้ตามลักษณะของครอบครัวขยาย โดยมีชานเชื่อมต่อกัน และมีการเล่นระดับพื้นเรือนให้ลดหลั่นกันไป เช่น พื้นบริเวณเฉลียงด้านบันไดหน้าแล้วยกพื้นไปเป็นระเบียง จากพื้นระเบียงจะยกระดับไปเป็นพื้นตัวเรือนจากตัวเรือนจะลดระดับไปเป็นพื้นครัว จากพื้นครัวจะลดระดับเป็นพื้นที่ซักล้าง ซึ่งอยู่ติดกับบันไดหลัง การลดระดับพื้นจะเห็นได้ชัดว่า มีการแยกสัดส่วนจากกันในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ บางตัวเรือนเมื่อสร้างตัวเรือนหลักเสร็จแล้ว ยังต้องกำหนดพื้นที่ให้เป็นบริเวณที่ใช้ทำพิธีละหมาด ซึ่งเป็นกิจวัตรที่ต้องกระทำวันละ 5 ครั้ง
ส่วนการกั้นห้องเพื่อเป็นสัดส่วนเรือนไทยมุสลิมจะกั้นแต่ที่จำเป็นนอกนั้นจะปล่อยพื้นที่ให้โล่ง เพราะชาวไทยมุสลิมใช้เรือนเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา นอกจากนั้นยังไม่นิยมตีฝ้าเพดาน เพราะภาคใต้มีอากาศร้อนและฝนตกชุก อากาศจึงอบอ้าว และมักจะเว้นช่องลมใต้หลังคาให้ลมโกรกอยู่ตลอดเวลา การที่ตัวเรือนยกพื้นสูง ชาวไทยมุสลิมจึงสามารถใช้ใต้ถุนประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดี เช่น ใช้เป็นบริเวณประกอบอาชีพเสริม คือ ทำกรงนก สานเสื่อกระจูด หรืออาจใช้วางแคร่เพื่อพักผ่อน บางบ้านอาจกั้นเป็นคอกสัตว์ เป็นต้น
เนื่องจากประเพณีความเป็นอยู่ของชาวไทยมุสลิมจะแยกกิจกรรมของชายหญิงอย่างชัดเจน ตัวเรือนจึงนิยมมีบันไดไว้ทั้งทางขึ้นหน้าบ้านและทางขึ้นครัว โดยทั่วไปผู้ชายจะใช้บันไดหน้า ส่วนผู้หญิงจะใช้บันไดหลังบ้าน รวมทั้งเป็นการไม่รบกวนแขกในการเดินผ่านไปมาอีกด้วย ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมของเรือนไทยมุสลิม คือ การสร้างเรือนโดยการผลิตโดยการผลิตส่วนประกอบของเรือนก่อน แล้วจึงนำส่วนต่าง ๆ เหล่านั้นขึ้นประกอบกันเป็นตัวเรือนอีกทีหนึ่ง ขณะเดียวกัน เมื่อต้องการย้ายไปประกอบในพื้นที่อื่น ๆ ตัวเรือนก็สามารถแยกออกได้ส่วน ๆ ได้เสาเรือนจะไม่ฝังลงดิน แต่จะเชื่อมยึดต่อกับตอม่อหรือฐานเสาเพื่อป้องกันปลวก เนื่องจากมีความชื้นสูงมาก
นอกจากนี้เรือนไทยมุสลิมยังแยกส่วนที่อยู่อาศัย (แม่เรือน) ออกจากครัว โดยใช้เฉลียงเชื่อมต่อกัน ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าบริเวณแม่เรือนเป็นบริเวณที่สะอาด ส่วนบริเวณครัวนั้นสามารถทำสกปรกได้โดยง่ายแลยังสามารถดับเพลิงได้สะดวกเมื่อเกิดเพลิงไหม้บริเวณครัว โดยสรุป เรือนไทยมุสลิมมีลักษณะเฉพาะตัวที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ดังนี้
  1. หลังคาเป็นหลังคาทรงสูง มีความลาดชัน เพื่อให้น้ำฝนไหลผ่านโดยสะดวก โดยทั่วไปมี 3 แบบ คือ หลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา หลังคาจั่วมนิลา มีหารต่อชายคาออกไปคลุมบันได เนื่องจากฝนตกชุกมากในบริเวณภาคใต้
  2. ไม่นิยมฝังเสาเรือนลงไปในพื้นดิน แต่จะใช้ตอม่อหรือบานเสาที่ทำโดยไม้เนื้อแข็ง ศิลาแลง หรือเสาก่ออิฐฉาบปูนรองรับ
  3. วิธีสร้างเรือนจะประกอบส่วนต่าง ๆ ของเรือนบนพื้นดินก่อนแล้วจึงยกส่วนโครงสร้างต่าง ๆ ขึ้นประกอบเป็นตัวเรือนอีกทีหนึ่ง การสร้างเรือนวิธีนี้ทำให้สะอาดในการย้ายบ้าน ซึ่งนิยมย้ายบ้านทั้งหลังโดยใช้คนหาม โดยถอดส่วนที่มีน้ำหนักมากออกเสียก่อน เช่น ฝา กระเบื้องมุงหลังคา ฯลฯ
  4. ไม่นิยมสร้างรั้วกั้นบริเวณเรือน แต่จะปลูกไม้ผล เช่น มะพร้าว มะม่วง ขนุน กล้วย เพื่อให้ร่มเงา และเป็นการแสดงอาณาเขตของบ้านเรือน ซึ่งนิยมสร้างแยกกันเป็นหลัง ๆ
  5. การวางตัวเรือนจะหันหน้าเข้าหาเส้นทางสัญจรทั้งทางน้ำและทางบก ซึ่งสามารถรับลมบกและลมทะเลได้
  6. นอกจากเรือนพักอาศัยแล้ว ยังมีอาคารประกอบบ้านเรือนอีกได้แก่ “ศาลา” ซึ่งมีรูปทรงของหลังคาคล้อยตามความนิยมของรูปแบบเรือนพักอาศัย เช่น หลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา ศาลาเหล่านี้จะสร้างขึ้นตามลักษณะการใช้สอย เช่น ใช้ประชุมหรือพบปะสังสรรค์ของชาวบ้านศาลาใช้สำหรับเป็นที่หลบแดดฝนระหว่างเดินทาง
  7. สถานที่หรืออาคารประกอบตัวเรือนจะอำนวยความสะดวกในหารประกอบอาชีพของชาวใต้ เช่น เรือนชาวนาจะมียุ้งข้าวขนาดเล็กสำหรับเก็บข้าวเปลือกไว้หน้าบ้าน เรือนชาวสวนยางพาราจะมีโรงสำหรับทำน้ำยางให้เป็นแผ่นและที่ตากยาง เรือนชาวประมงจะมีที่ตากปลา เป็นต้น  
เรือนไทยมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้
เรือนไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปัตตานีได้ชื่อว่าเป็นเมืองศูนย์กลางของวัฒนธรรมอิสลาม ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่ครั้นบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ตลอดจนการดำรงชีวิตและที่สำคัญคือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
เนื่องจากปัตตานีมีพื้นที่ติดชายฝั่งตะวันออกคือ อ่าวไทย และมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดยะลาและนราธิวาส หมู่บ้านของชาวไทย มุสลิมในจังหวัดปัตตานีจึงมีลักษณะหลากหลาย ทั้งหมู่บ้านชาวประมง ชาวสวนยางพารา ชาวนา และชาวสวนผลไม้ ทำให้รูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมีครบทั้ง 3 รูปแบบ กล่าวคือ
  • แบบเป็นกระจุก
  • แบบกระจัดกระจาย
  • แบบเรียงรายไปตามแนวชายฝั่งทะเล หรือเส้นทางสัญจร
ในฐานะที่ปัตตานีเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางทะเลมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา รูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นบ้านจึงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย คือ นอกจากจะเป็นเรือนไม้ยกพื้นใต้ถุนสูง ซึ่งเป็นลักษณะร่วมทางสถาปัตยกรรมพื้นฐานของภูมิภาคศูนย์สูตรแล้ว ยังมีลักษณะรูปทรงหลังคาที่โดดเด่นเป็นพิเศษ โดยทั่วไปหลังคาเรือนไทยมุสลิมจะมี 3 ลักษณะ ดังนี้คือ
  1. หลังคาปั้นหยา หรือหลังคาลีมะ คำว่า “ลีมะ” แปลว่า “ห้า” หมายถึงหลังคาที่นับสันหลังคาได้ 5 ล้น เป็นรูปทรงหลังคาที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมของชาวตะวันตก หลังคาทรงปั้นหยานี้นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ และพบได้ทั่วไปในจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี
  2. หลังคาจั่วมนิลา ชาวมุสลิมเรียกว่า “บลานอ” ซึ่งหมายถึง ชาวฮอลันดา หลังคาแบบนี้เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมของชาวฮอลันดา เป็นหลังคาที่มีโครงสร้างเช่นเดียวกับหลังคาปั้นหยา แต่เป็นหลังคาที่มีจั่วติดอยู่ เพื่อระบายอากาศและดูสวยงาม หลังคาบลานอนี้จะมีรูปแบบที่สวยงามกว่าแบบอื่น เหมาะที่จะมีจั่วอย่างน้อย 3 จั่ว โดยมีหลังจั่วแฝด และมีจั่วขนาดเล็กสร้างคลุมเฉลียงหน้าบ้านติดกับบันไดทางขึ้น เพื่อใช้รับรองแขกอย่างไม่เป็นทางการ นอกยากนั้น ช่างไม่ยังแสดงฝีมือเชิงช่างในการประดิษฐ์ลวดลายด้วยการแกะสลักไม้ ปูนปั้น เป็นลวดลายประดับลวดลายประดับยอดจั่ว และมีการเขียนลายบนหน้าจั่ว หรือตีไม้ให้มีลวดลายเป็นแสงตะวัน
  3. หลังคาจั่ว ชาวมุสลิมเรียกว่า “แมและ” เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากเรือนไทยภาคกลาง แต่จะมีข้อแตกต่างไปจากภาคกลาง ตรงที่มีปั้นลมปีกนกที่ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบสถาปัตยกรรมจากมาเลเซีย ไม่เหมือนปั้นลมไทย ซึ่งปลายปั้นลมทั้งสองข้างจะมีเหงาปั้นลมประดับอยู่
นอกจากหลังคาทั้ง 3 แบบดังกล่าวแล้ว เรือนชาวไทยมุสลิมโบราณในจังหวัดปัตตานียังมีลักษณะเด่น คือ การประดิษฐ์ลวดลายไม้แกะสลักทั้งบริเวณช่องลมและประดับฝาเรือนอีกด้วย
เรือนไทยมุสลิมในจังหวัดยะลา
เรือนไทยมุสลิมในจังหวัดยะลาเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วมนิลาและทรงปั้นหยา แต่ทรงจั่วมนิลาจะพบมากกว่าทรงปั้นหยา เรือนหนึ่ง ๆ จะมีทางขึ้นเรือนอย่างน้อยสองทางเสมอ เนื่องจากเวลามีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีต่าง ๆ จะมีการแยกเพศระหว่างชายและหญิง เมื่อมีแขกมาในงาน ถ้าเป็นชายจะขึ้นเรือนทางด้านหน้า ส่วนหญิงจะขึ้นเรือนทางด้านข้างหรือด้านหลัง
เรือนไทยมุสลิมในจังหวัดนราธิวาส
เรือนไทยมุสลิมในจังหวัดนราธิวาสมีรูปทรงของเรือนเหมือนเรือนไทยมุสลิมทั่วไปคือ เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง เสาจะวางอยู่บนตอม่อบางบ้านทำเป็นตอม่อซีเมนต์หล่ออย่างแข็งแรง บางบ้านก็ใช้เสาไม้ขนาดใหญ่ทำตอม่อ รูปทรงหลังคาเรือนไทยมุสลิมในนราธิวาสจะแตกต่างจากจังหวัดปัตตานีและยะลา ตรงที่หลังคาเป็นทรงจั่วมนิลาทรงสูง เล็ก และมีหลังคาทอดกว้างออกไปในลักษณะจั่วเดียวหรือซ้อนเรียงกัน 2 จั่ว แล้วแต่ขนาดของเรือนว่าเล็กใหญ่แค่ไหน ซึ่งมีทั้งหลังคากระเบื้องและสังกะสี ส่วนการใช้พื้นที่เรือนและบริเวณบ้านมีลักษณะเดียวกับเรือนในยะลาและปัตตานี เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมแบบเดียวกัน
เรือนไทยมุสลิมในจังหวัดสตูล
เรือนไทยมุสลิมในจังหวัดสตูลมีลักษณะหลังคาเป็นแบบจั่วยกสูงแล้วลาดเอียงไปในแนวชายคาทั่งสองด้าน มีลักษณะเหมือนปีกนก เพื่อให้น้ำฝนไหลผ่านได้สะดวก ความพิเศษของเรือนไทยมุสลิมในจังหวัดสตูลอยู่ที่ไม่มีฝ้าเพดาน แต่จะนิยมทำช่องลมไว้ใต้จั่ว แม่เรือนหรือตัวเรือนหลักจะไม่มีเฉลียงหรือระเบียง มีบันไดพาดขึ้นบ้านได้ทันที ทั้งนี้เพราะเป็นข้อห้ามตั้งแต่ครั้งโบราณว่า เรือนเจ้านายระดับสูงเท่านั้นจึงจะมีระเบียงหรือเฉลียง ส่วนเรือนชาวบ้านสามัญจะต้องไม่เลียนแบบเรือนเจ้านาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรือนชาวบ้านได้มีการต่อเติมเพิ่มเฉลียงขึ้นให้คลุมบันได เพื่อป้องกันฝนสาดและสะดวกในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่  
ประเพณีและความเชื่อในการสร้างบ้านเรือนของชาวไทยมุสลิมในอดีตจะมีประเพณีกรรมหลายอย่าง เข้าใจว่าได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์เพราะตามบันทึกและประวัติศาสตร์ก่อนหน้าที่ศาสนาจะเข้ามามีอิทธิพลประชาชนในดินแดนแถบนี้นับถือศาสนาพุทธมาก่อน
ดังนั้นเมื่อศาสนาอิสลามเข้ามา แม้ประชาชนในแถบนี้จะนับถือศาสนาอิสลามแล้วก็ตาม แต่ประเพณีต่าง ๆ ของศาสนาพุทธและพราหมณ์บางอย่างก็ยังเป็นที่ยึดถือและปฏิบัติอยู่ ประเพณีการสร้างเรือนไทยมุสลิมมีขั้นตอนและพิธีกรรมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้คือ
สถานที่สร้างเรือน
การเตรียมสถานที่สร้างเรือนจะต้องเป็นพื้นดินราบเสมอกันในบริเวณที่จะสร้างเรือน ส่วนนอกบริเวณดังกล่าวทางทิศเหนือต้องเป็นที่ดอนหรือเนิน และทางทิศใต้ต้องเป็นพื้นที่ต่ำกว่า อาจจะเป็นพื้นที่นาข้าวส่วนทิศตะวันออกต้องเป็นพื้นที่เสมอกันกับพื้นที่สร้างเรือน ถ้าเลือกพื้นที่ในลักษณะที่เช่นนี้เป็นที่สร้างเรือนแล้ว เชื่อกันว่าเมื่อสร้างเรือนอยู่ ชีวิตครอบครัวจะรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข การทำมาหากินจะมีโชคลาภ ได้ทรัพย์สมบัติเพิ่มพูนและฐานจะดีขึ้นตามลำดับ แต่ถ้าหาพื้นที่ในลักษณะดังกล่าวไม่ได้ เมื่อตัดสินใจสร้างเรือนในพื้นที่ใดให้หาไม้ไผ่อ่อนที่ยังไม่แตกกิ่งใบ ตัดเอาแต่ด้านโคนมีความยาว 1 วา โดยวัดความยาวด้วยข้อมือของผู้ที่จะสร้างเรือนจากปลายนิ้วมือขวาถึงปลายนิ้วมือซ้าย จากนั้นนำไปปักตรงใจกลางพื้นที่ที่จะสร้างในเวลาพลบค่ำให้ลึกลงในดิบประมาณครึ่งศอก โดยก่อนจะปักไม้ไผ่ดังกล่าวจะต้องอ่านคัมภีร์อัลกุรอานในบท “อัลฟาตีฮะห์” 1 จบ แล้วอ่านคำสรรเสริญพระเกียรติพระบรมศาสดามูฮัมหมัด ที่เรียกว่า “เศาะลาวาด” อีก 3 จบ เสร็จแล้วไห้อธิษฐานขอให้พระอัลเลาะห์ได้โปรดประทานให้รู้อย่างหนึ่งอย่างใดว่า พื้นที่ที่ตั้งใจจะสร้างเรือนจะเป็นสิริมงคลหรืออัปมงคล เมื่ออธิษฐานจบจึงปักไม้ไผ่ทิ้งไว้จนรุ่งเช้า แล้วจึงนำไม้ไผ่มาวัดความยาวใหม่ หากปรากฏว่าไม้ไผ่ยาวกว่าเดิมถือว่าพื้นที่นี้ดี หากสั้นกว่าเดิมถือว่าไม่ดี ถ้าสร้างเรือนอยู่ครอบครัวจะแตกแยก การทำมาหากินไม่เจริญก้าวหน้าและมีอาถรรพ์ นอกจากนี้ ควรลีกเลี่ยงการปลูกเรือนคร่อมจอมปลวก ตอไม้ใหญ่หรือครอง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการปลูกเรือนใกล้ต้นไม้ใหญ่ ที่ดินสุสาน และพื้นที่รูปลิ้นมีนาขนาบทั้งสองข้าง
ทิศทางของเรือน
สำหรับทิศทางของเรือนชาวมุสลิมเชื่อกันว่าไม่ควรสร้างขวางดวงตะวัน เพราะจะทำให้ผู้อาศัยหลับนอนมีอนามัยไม่ดี ไม่มีความจีรังยั่งยืนทางที่ดีที่สุดคือหันหน้าบ้านไปทางทิศตะวันออก หลังบ้านอยู่ทางทิศตะวันตก อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมสมัยก่อนนิยมสร้างเรือนหันหน้าบ้านไปทางทิศเหนือ หรือทางถนนเพื่อการสัญจร ส่วนห้องนอนต้องอยู่ทางทิศตะวันตก บางบ้านนิยมสร้างเรือนข้าว โดยเชื่อว่าเรือนข้าวมีความสำคัญต่อครอบครัว เพราะเป็นเครื่องวัดฐานะความมั่นคงของเจ้าบ้านทำให้เกิดความเชื่อในเรื่องทิศทางและทำเลที่ปลูกสร้างเรือนข้าวต่อมาโดยเชื่อกันว่าการปลูกเรือนข้าวไว้ทางทิศตะวันออกหรือทิศใต้ของเรือนอาศัย จะทำให้มีข้าวอุดมสมบูรณ์
ฤกษ์ยามในการปลูกเรือน
การเลือกฤกษ์ยามในวันลงเสาเรือน เจ้าของบ้านจะต้องไปหาฤกษ์จากผู้รู้ เช่น โต๊ะอิหม่าม ซึ่งโดยมากวันที่ที่เป็นมงคลในการเริ่มลงเสาเรือนจะถือปฏิบัติกันหลายวิธี และวิธีหนึ่งที่นิยมปฏิบัติกันทั่วไปคือ การนับธาตุทั้งสี่อันได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งมีความหมายดังนี้คือ 
“ดิน” หมายถึงการทำงานเป็นไปอย่างช้า ๆ อาจจะพบปัญหาและอุปสรรค 
“น้ำ” หมายถึงการทำงานอยู่ในสภาพเยือกเย็นได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น 
“ไฟ” หมายถึงการทำงานอยู่ในสภาพอารมณ์ร้อน การทำงานมีปัญหาและการทะเลาะเบาะแว้งในเครือญาติหรือเพื่อนร่วมงาน 
“ลม” หมายถึงการทำงานเป็นไปอย่างรวมเร็ว ราบรื่น ไม่ค่อยมีปัญหา มีโชคลาภและอารมณ์เย็น การนับวันว่า วันไหนจะตกตรงกับธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จะต้องนับตามวันทางจัทรคติดังต่อไปนี้ 
ดินน้ำไฟลม ขึ้น 1 ค่ำขึ้น 2 ค่ำ ขึ้น 3 ค่ำขึ้น 4 ค่ำ56789101112131415แรม 1 ค่ำแรม 2 ค่ำแรม 3 ค่ำแรม 4 ค่ำแรม 5 ค่ำ6789101112131415 วันที่นิยมสร้างเรือน ได้แก่ วันอาทิตย์ วันอังคาร วันพฤหัสบดี ส่วนวันที่ต้องห้าม คือ วันพุธ วันเสาร์ และไม่นิยมสร้างในวันศุกร์และวันพุธปลายเดือน ทั้งนี้การนับวันของชาวไทยมุสลิมจะนับเวลาขึ้นวันใหม่ตั้งแต่เวลา 18.01 น. ไปจนถึงเวลา 18.00 น. ของวันต่อไป
นอกจากนี้การสร้างเรือนของชาวมุสลิมจะไม่นิยมสร้างในข้างแรมของแต่ละเดือน แต่จะนิยมสร้างข้างขึ้น สำหรับเดือนที่ถือว่ามีสิริมงคลในการเริ่มก่อสร้างเรือนมีเพียง 6 เดือนเท่านั้น ได้แก่
  1. เดือนซอฟาร์ เชื่อกันว่าถ้าสร้างเรือนในเดือนนี้จะมีโชคลาภได้ทรัพย์สมบัติทวีคูณ
  2. เดือนยามาดิลอาวัล เชื่อกันว่าถ้าสร้างเรือนในเดือนนี้จะมีโชคลาภ มีบริวารมากเป็นที่รู้จักในวงสังคม
  3. เดือนซะบัน เชื่อกันว่าถ้าสร้างเรือนในเดือนนี้จะได้รับยศศักดิ์และเกียรติเป็นที่เคารพนับถือจากสังคมทั่วไป
  4. เดือนรอมฎอน เชื่อกันว่าถ้าสร้างเรือนในเดือนนี้จะมีโชคลาภและความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น
  5. เดือนซุลกีฮีเดาะห์ เชื่อกันว่าถ้าสร้างเรือนในเดือนนี้จะมีโชคลาภอย่างมหาศาล ทรัพย์สมบัติที่ได้มาจะได้สืบทอดถึงลูกหลานด้วยพร้อมกันนี้ญาติพี่น้องและมิตรสหายจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้นอาหารการกินสมบูรณ์ตลอด
ส่วนเดือนอื่น ๆ อีก 6 เดือน ถือว่าเป็นเดือนไม่ดี ความหลีกเลี่ยงการลงเสาเรือน เพราะจะพบกับอุปสรรคต่าง ๆไม่จบสิ้น
การยกเสาเอก
โดยปกติบ้านหลังหนึ่งจะมี 6 เสา เวลาลงเสาจะลงหมดทั้งหมดทั้ง 6 เสาพร้อมกัน แต่ถือว่าเสากลางด้านทิศเหนือเป็นเสาเอก ซึ่งเรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า “เตียงซือรี” ก่อนลงเสาทั้ง 6 ต้องใช้เหรียญบาทติดไว้ที่โคนทุกเสา แต่ถ้าเจ้าบ้านเป็นคนฐานะดี อาจติดทองคำด้วย ทั้งนี้ด้วยความเชื่อว่าเมื่อติดเหรียญทองคำที่โคนเสาแล้ว จะได้นั่งบนกองเงินกองทอง ทำมาหากินดี มีเงินเหลือเก็บและฐานะดีขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับเสาเอก เวลาลงเสาจะต้องเอาผ้าแดง 1 ผืน กล้ามะพร้าวที่มีใบ 3-4 ใบ จำนวน 1 ต้น รวงข้าวประมาณ 1 กำมือ ทองคำจำนวนหนึ่งโดยปกติใช้สร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง 1 เส้น ผูกไว้ที่เสาเอกเป็นเวลา 3 วันจึงเอาออก (ส่วนทองคำหลังจากลงเสาแล้วจะเอาออกทันทีเพราะกลัวขโมย)
การสร้างเรือน
เมื่อเจ้าของเรือนตกลงเลือกสถานที่สร้างได้แล้ว ก็ถึงขั้นตอนการสร้างเรือน โดยเจ้าของบ้านจะต้องตกลงกับช่างไม้ในเรื่องขนาดแบบเรือน ค่าใช้จ่าย และอื่น ๆ เพราะเรือนที่สร้างจะไม่มีการเขียนแบบแปลน แต่อาศัยความชำนาญของช่างแต่ละคน โดยทั่วไปมีแบบและขั้นตอนการสร้างดังนี้
  1. ขนาดของตัวเรือนขึ้นอยู่กับจำนวนเสา โดยมากนิยมสร้างเสา 6,9 และ 12 เสา สำหรับตัวเรือนแต่เดิมนิยมสร้างเป็นแบบเรือนแฝดมีชานกลางเชื่อมตัวเรือนหลักเข้ากับครัว แต่ต่อมานิยมสร้างเป็นตัวเรือนเดี่ยว ความกว้างของเรือนนิยมสร้าง 7 หรือ 10 ศอก แต่ไม่นิยมสร้างเรือน 8 ศอก โดยวัดจากช่วงข้อศอกถึงปลายนิ้วกลาง ยกเว้นข้อศอกสุดท้ายจะกำมือ ส่วนบันไดนิยมความกว้างเป็นเลขคี่ เช่น 3, 5,7 จะไม่นิยมลงเลขคู่ เพราะถือว่าเป็นบันไดผี นำความอัปมงคลมาสู่ผู้อยู่อาศัย
  2. ความสูงของตัวเรือน นิยมสร้างโดยยกพื้นใต้ถุนสูงพอคนลอดได้ หรือไม่เกิน 2 เมตร เพื่อใช้ใต้ถุนเป็นที่เก็บของ ทำเป็นคอกสัตว์ที่นั่งเล่น และใช้เป็นที่ประกอบอาชีพเสริม เช่น สานเสื่อ ทำกรงนกเขาชวา ฯลฯ
  3. พื้นเรือน มักตีพื้นลดหลั่นกันตามประเภทการใช้สอย โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ จากบันไดสู่ชาน จากชานสู่ระเบียงใช้เป็นที่รับแขกจากระเบียงยกระดับสูงขึ้นเป็นพื้นห้องโถงใหญ่และห้องนอน ลดระดับลงมาเป็นพื้นครัว ถ้าครอบครัวฐานะดีจะใช้ไม้กระดานตีให้ห่าง เพื่อระบายลมและเทน้ำทิ้ง ถ้าครอบครัวฐานะยากจนจะใช้ไม้ไผ่ตีเป็นฟากจากครัวลดระดับลงมาเป็นชานซักล้างอยู่ติดกับบันไดหลังบ้าน
  4. การกั้นห้องและพื้นที่สำหรับละหมาดเรือนไทยมุสลิมจะกั้นห้องเฉพาะใช้นอนเท่านั้น นอกนั้นปล่อยเป็นพื้นที่โล่ง ใช้เป็นที่รับแขกและพิธีต่าง ๆ เช่น แต่งงาน งานเมาลิด ฯลฯ แต่เนื่องจากบัญญัติของศาสนาอิสลาม ชาวไทยมุสลิมจะต้องทำละหมาดทุกวัน ๆ ละ 5 ครั้ง ทุกบ้านจึงต้องกั้นพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับทำละหมาดโดยใช้เกณฑ์ดังนี้คือ 
    - ต้องมีฝาหรือผ้าม่านกั้นไม่ให้คนเดินผ่าน 
    - ต้องอยู่บนเรือนหลัก 
    - ต้องหันหน้าไปทางทัศตะวันตก
การสร้างตัวเรือนหลัก
เมื่อทำพิธียกเสาเอกแล้ว จะยกเสาที่เหลือขึ้น จากนั้นจึงติดตั้งโครงสร้างเรือน โดยประกอบโครงหลังคาบนดินก่อน แยกประกอบขึ้นเป็นตัวเรือน ตีแปแล้วขึ้นมุงหลังคา ก่อนวางตงแล้วตีพื้น จากนั้นจึงตีราวฝา ติดตั้งวงกบประตู หน้าต่าง ตีฝา แล้วต่อระเบียงหน้าบ้าน ต่อครัวไปทางด้านหลัง เมื่อเสร็จตัวเรือนแล้วจึงติดตั้งบันไดหน้าบ้านและหลังบ้าน เมื่อสร้างเรือนเสร็จแล้วนิยมขุดบ่อน้ำไว้ใช้อุปโภค โดยนิยมขุดบ่อไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน และสร้างที่อาบน้ำไว้บริเวณใกล้บ่อน้ำ เพราะแต่เดิมไม่นิยมสร้างส้วมหรือห้องน้ำไว้ในตัวเรือน 6
การประดับตกแต่งตัวเรือน
เรือนไทยมุสลิมดั้งเดิมจะไม่ทาสี แต่จะใช้น้ำมันไม้ทาเพื่อป้องกันปลวก ส่วนการประดับตกแต่งตัวเรือนขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าบ้าน หากมีฐานะดีจะประดับตัวเรือนด้วยไม้ฉลุเป็นลวดลายประดับยอดจั่ว ช่องลม และเชิงชาย

เรือนล้านนา

ไฟล์:Thainorthernhouse.jpg

  • เรือนชนบท หรือเรือนเครื่องผูก
เป็นเรือนขนาดเล็ก เรือนประเภทนี้กันทั่วไปเนื่องจากก่อสร้างง่ายราคาถูก ตามชนบทและหมู่บ้านต่าง ๆ เรือนชนิดนี้โครงสร้างส่วนหลังคา ตงพื้นใช้ไม้ไผ่ ส่วนคานและเสานิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง ฝาเป็นฝาไม้ไผ่สาน หลังคามุงแฝกหรือใบตองตึง นิยมใช้ตอกและหวายเป็นตัวยึดส่วนต่าง ๆ ของเรือนเข้าด้วยกันด้วยวิธีผูกมัด จึงเรียกกันว่า "เรือนเครื่องผูก" สร้างขึ้นกลางทุ่งนา เพื่อเฝ้าทุ่ง หรือเพื่อประโยชน์การใช้งานตามฤดูกาล มีลักษณะชั่วคราวอยู่ได้ 2-4 ปี เมื่อถึงฤดูฝนในปีหนึ่งๆต้องมีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ มีการออกแบบโดยใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีสัดส่วนที่ลงตัว ค่อนข้างกระชับ
  • เรือนไม้ หรือเรือนเครื่องสับ
เรือนไม้ เป็นเรือนของผู้มีอันจะกิน ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น สัก เต็ง รัง ตะเคียน ไม้แดง ฯลฯ การปลูกเรือนประเภทนี้ไม่ต้องใช้ตะปูตอก ยึดให้ไม้ติดกันหรือประกอบกัน โดยการใช้มีด สิ่ว หรือขวานถากไม้ให้เป็นรอยสับแล้วประกอบเข้าด้วยกัน เรียกว่า การประกอบเข้าลิ้นสลักเดือย หลังคามุงกระเบื้อง (ดินขอ) หรือแป้นเกล็ด
  • เรือนกาแล

เรือนกาแล

กาแล เอกลักษณ์ของเรือนไทยภาคเหนือ
เรือนกาแล เป็นเรือนพักอาศัยของผู้มีอันจะกินและผู้นำชุมชน หรือเป็นเรือนของบุคคลชั้นสูงในสังคม เรือนประเภทนี้มีลักษณะพิเศษคือมียอดจั่วประดับกาแลไม้สลักอย่างงดงาม นิยมมุงกระเบื้องไม้เรียก “แป้นเกล็ด” แต่ปัจจุบันไม้เป็นวัสดุหายากมีราคาแพงจึงเปลี่ยนมาใช้ “ดินขอ” มุงหลังคาแทน ใช้วัสดุอย่างดี การช่างฝีมือสูงประณีต แต่มีแบบค่อนข้างตายตัว ส่วนใหญ่เป็นเรือนแฝด มีขนาดตั้งแต่ 1 ห้องนอนขึ้นไป เรือนกาแลจะมีแผนผัง 2 แบบใหญ่ๆ คือ แบบเอาบันไดขึ้นตรงติดชานนอกโดดๆ กับแบบเอาบันไดอิงชิดแนบฝาใต้ชายคาคลุม แต่ทั้งสองแบบจะใช้ร้านน้ำตั้งเป็นหน่วยโดดๆ มีโครงสร้างของตนเองไม่นิยมตีฝ้าเพดาน หรือบางกลุ่มประกอบด้วยเรือนหลายหลังเป็นกลุ่มใหญ่
ความเป็นมาของกาแลนี้ มีข้อสันนิษฐานดังนี้
  • คำว่า “กาแล” อาจจะเพี้ยนมาจากคำ “กะแลง” ซึ่งมีความหมายว่า ไขว้กันอยู่
  • รูปลักษณะอาจพัฒนามาจาก แต่เดิมเป็นเรือนไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยใบตองตึง(ใบพลวง) ซึ่งต้องมีไม้ปิดหัวท้ายตรงสันหลังคาตอนหน้าจั่ว เมื่อพัฒนาเป็นเรือนไม้จริงมุงด้วยกระเบื้องดินขอ การใช้ไม้เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมไขว้กัน แบบธรรมดาคงไม่เกิดความงาม จึงคิดประดิษฐ์แกะสลักปลายไม้ ให้เกิดความอ่อนโค้งงดงามด้วย
  • อาจจะรับอิทธิพลมาจากชาวพื้นเมืองเดิม คือ พวกลัวะ (ละว้า) ซึ่งเรือนแบบดั้งเดิมของพวกลัวะ จะมีการใช้กาแลนี้ประดับ โดยแต่ละแห่งจะแกะสลักลวดลายเฉพาะอย่างไป เป็นเครื่องหมายบอกถึงเชื้อตระกูล ชาวล้านนา (โดยเฉพาะเชียงใหม่) อาจจะรับรูปแบบมาแล้วพัฒนาเป็นรูปแบบของตนเองในภายหลังอีกที
  • อาจจะทำไว้ให้มีความหมายเพื่อเป็นสิริมงคล หรือทำไว้เพื่อป้องกันไม่ให้แร้ง กามาเกาะหลังคา (ซึ่งถือว่าเป็นเสนียดอัปมงคล) นอกจากนี้ยังคงเป็นเครื่องแสดงบอกฐานะของเจ้าของเรือนด้วย

องค์ประกอบของเรือนล้านนา

จะมีส่วนประกอบหลักๆดังนี้
  • ข่วงบ้าน
ข่วงบ้าน ลักษณะเป็นลานดินกวาดเรียบกว้างเป็นลานอเนกประสงค์ ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนเล่นของเด็ก ลานตากพืชผลทางการเกษตร เป็นลานที่เชื่อมเส้นทางสัญจรหรือทางเดินเท้าให้เข้าสู่ตัวอาคาร และกระจายไปสู่ลานในบ้านข้างเคียงและถนนหลัก
  • บันไดและเสาแหล่งหมา
ตัวบันไดเรือนจะหลบอยู่ใต้ชายคาบ้านด้านซ้ายมือเสมอ จึงต้องมีเสาลอยรับโครงสร้างหลังคาด้านบนตั้งลอยอยู่ แต่โดยทั่วไปเรือนไม้มักจะยื่นโครงสร้างออกมาอีกส่วนหนึ่งโดยทำเป็นชายคาคลุมบันไดหรือเป็นโครงสร้างลอยตัว ส่วนเรือนแฝดประเภทมีชานเปิดหน้าเรือน ไม่หลบบันไดเข้าชายคา แต่จะวางบันไดชนชานโล่งหน้าเรือนอย่างเปิดเผย “เสาแหล่งหมา” คือเสาลอยโดด ๆ ต้นเดียว ที่ใช้รับชายคาทางเข้าซึ่งมาจากการที่ชาวเหนือนำหมามาผูกไว้ที่เสานี้นั่นเอง
  • ชาน
ชานเรือน คือพื้นไม้ระดับต่ำกว่าเติ๋น มักไม่มุงหลังคา เสารับชานเรียก เสาจาน ที่สุดช่านด้านที่มีคันได(บันได) มักจะมีฮ้านน้ำ(ร้านน้ำ)
  • ร้านน้ำ หรือ ฮ้านน้ำ
คือหิ้งสำหรับวางหม้อน้ำดื่ม พร้อมที่แขวนกระบวยหิ้งน้ำ สูงประมาณ80-100 เซนติเมตร หากหิ้งน้ำอยู่ที่ชานโล่งแจ้งเจ้าของบ้านจะทำหลังคาคลุมลักษณะคล้ายเรือนเล็ก ๆ เพื่อมิให้แสงแดดส่องลงมาที่หม้อน้ำ หม้อน้ำนี้ยิ่งเก่ายิ่งดี เพราะมักจะมีตะใคร่น้ำเกาะ ภายนอกช่วยให้น้ำในหม้อเย็นกว่าเดิม ข้างๆหม้อน้ำจะวางซองน้ำบวย (ที่ใส่น้ำกระบวย) ทำจากไม้ระแนงเป็นรูปสามเหลี่ยมตัว V ใส่กระบวยที่ทำจากกะลามะพร้าวต่อด้ามไม้สัก บางทีสลักเสลาปลายด้ามเป็นรูปสัตว์ต่างๆน่าสนใจ
  • เติ๋น
ตัวเติ๋นเป็นเนื้อที่กึ่งเปิดโล่ง มีขนาดไม่เล็กกว่าห้องนอนเท่าใดนัก ในกรณีของเรือนชนบทเป็นเนื้อที่ใช้งานได้แบบอเนกประสงค์ ถ้ามีแขกผู้น้อยมาหาเจ้าของบ้านจะนั่งบนเติ๋นแขกนั่งบนชานบันไดหรือเนื้อที่ที่มีระดับต่ำกว่า ถ้ามีแขกมีศักดิ์สูงกว่า เช่น ผู้ใหญ่ พระสงฆ์ เจ้าของบ้านก็จะนั่งถัดลงมา งานสวดศพก็จะใช้เนื้อที่นี้ประกอบพิธีกรรม ในกรณีที่มีลูกสาว ในเวลาค่ำคืนพวกหนุ่มก็มาแอ่วสาวที่เติ๋นนี้เอง เรือนที่มีห้องนอนเดียวก็จะใช้เติ๋นเป็นที่นอนของลูกชาย ลูกผู้หญิงนอนกับพ่อแม่ ลูกชายประเภทแตกเนื้อหนุ่มออกเที่ยวยามค่ำคืนกลับมาดึกดื่นไม่ต้องปลุกใครเข้านอนได้เลย
  • ห้องนอน
ในระดับเรือนชนบทห้องนอนจะมีขนาดใหญ่กว่าเนื้อที่ใช้งานอื่นๆ ฝาด้านทึบจะอยู่ชิดเติ๋น ประตูทางเข้าจะเปิดที่ผนังด้านโถงทางเดินที่ใช้ติดต่อกันทั้งบ้าน ส่วนเรือนไม้และเรือนกาแลที่มีตั้งแต่สองห้องนอนขึ้นไปบางทีรวมเนื้อที่ห้องนอนทั้งหมดแล้ว อาจจะเท่าเติ๋นหรือเล็กกว่าเล็กน้อย ห้องนอนในเรือนกาแลมักจะมีขนาดใหญ่ ฝาล้มออก จะจัดเนื้อที่ห้องนอนออกเป็นสองส่วนซีกหนึ่งใช้เป็นที่นอน อีกซีกใช้วางของ ระหว่างเนื้อที่ทั้งสองซีกมีแผ่นไม้กั้นกลาง (ไม้แป้นต้อง) ไม้ตัวนี้จะตัดความสั่นไหวของพื้นห้องนอนออกจากกันด้วย เมื่อใช้เดินออกจากห้องนอนในยามเช้า ขณะที่ผู้อื่นยังหลับไหลอยู่ ทำให้พื้นที่ส่วนอื่นไม่ไหวไม่เกิดเสียงไม้เบียดตัวกัน
  • หิ้งผีปู่ย่า(หิ้งบรรพชน)
เป็นหิ้งที่จัดสร้างเหนือหัวนอน ติดฝาด้านตะวันออกตรงมุมห้องอยู่ติดเสา หรือระหว่างเสามงคลและเสาท้ายสุดของเรือน มักทำเป็นหิ้งเล็กๆยื่นจากฝาเข้ามาในห้องมีระดับสูงเท่าๆ หิ้งพระ ผีปู่ย่า หมายถึง วิญญาณของบรรพชนที่สิงสถิตในห้องนอนนี้ และให้การคุ้มครองแก่ทุกคนที่อาศัยในห้องนี้ บนหิ้งมักมีพานหรือถาดใส่ดอกไม้ธูปเทียนจากการเซ่นไหว้เป็นครั้งคราว และมีการเซ่นไหว้เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ เช่นแต่งงาน เจ็บป่วย เป็นต้น
  • ห้องครัว
ห้องครัวจะอยู่ทางทิศตะวันตกของห้องนอนเสมอ โดยแยกไปอีกหลังหนึ่ง โดยจะวางขนานกับเรือนใหญ่หรือเรือนนอน มีช่องทางเดินแยกเรือนครัวออกจากเรือนนอน เนื้อที่ที่ใช้ตั้งเตาไฟจะยกขึ้นมาเป็นแท่นไม้อัดดินแน่น พวกอุปกรณ์หุงต้มต่างๆ จะจัดอยู่บนแท่นไม้นี้ เป็นการป้องกันอัคคีภัยอย่างหนึ่ง ทำงานแบบนั่งก็สะดวก ภายในเรือนครัวประกอบด้วยส่วนเตาไฟ ทำด้วยกระบะไม้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อัดด้วยดินให้แน่นและเรียบสูงประมาณ 20 ซม. เป็นที่ฝัง “ก้อนเส้า” มักทำด้วยดินกี่(อิฐ) 3 ก้อน ตั้งเอียงเข้าหากัน เพื่อใช้เป็นเตาไฟ และวางหม้อแกง หรือหม้อนึ่งข้าวได้พอดี อาจจะทำ “ก้อนเส้า” ดังกล่าวนี้ 2 ชุด เพื่อสะดวกแก่การทำครัว ส่วนเหนือของเตาไฟจะมี “ข่า” ทำด้วยไม้จริงหรือไม้ไผ่ก็ได้เป็นตารางสำหรับย่างพืชผล และเป็นที่รมควันพวกเครื่องจักสาน กระบุง ตะกร้า เพื่อกันตัวมอดและทำให้ทนทานอีกด้วย ตอนบนหลังคาระดับจั่วจะเจาะโปร่งเป็นช่อง เพื่อการระบายควันไฟขณะทำครัว


  • อื่นๆ
  1. ฮ่อนริน คือ ชายคาของเรือนนอนกับเรือนครัวจะมาจรดกันเหนือช่องทางเดิน โดยจะมีรางน้ำสำหรับรองนำฝนจากหลังคา
  2. ควั่น เป็นที่เก็บของที่ไม่ค่อยได้ใช้ในชีวิตประจำวัน บนเพดานโปร่งใต้หลังคาเติ๋น โดยนำไม้ไผ่มาทำเป็นตะแกรงโปร่ง ลายตารางสี่เหลี่ยมยึดแขวนกับขื่อจันทันและแปหัวเสาของเรือน เพดานตะแกรงโปร่ง
  3. หำยน เป็นไม้แกะสลักเหนือช่องประตู เป็นแผ่นไม้ที่ชาวลาวล้านนาเชื่อว่าเป็นแผ่นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ติดไว้เพื่อป้องกันสิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่ผ่านเข้าสู่ห้องนอน
  4. ข่มประตู คือกรอบประตูล่างมีแผ่นธรณีประตูสูงกว่าขอบประตูปกติ ทำหน้าที่เป็นกรอบช่องประตู และเป็นเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างห้องนอนกับเติ๋น
  5. ฝาลับนาง เป็นฝาเรือนซีกปลายเท้ายื่นเลยจากตัวเรือนนอนเลยเข้ามายังส่วนโล่งของเติ๋นประมาณ 2 คืบ เป็นส่วนกำบังหญิงสาวในขณะทำงานบนบ้านในเวลาค่ำคืน ป้องกันกระแสลมหรืออันตรายที่จะเกิดกับหญิงสาว และขณะพูดคุยเกี้ยวพาราสีกับชายหนุ่ม โดยฝ่ายหญิงจะนั่งตรงเติ๋นบริเวณฝาลับนาง ฝ่ายชายจะนั่งอยู่บริเวณเติ๋นที่อยู่ชิดกับชาน ซึ่งพื้นของบริเวณเติ๋นจะยกระดับสูงกว่าพื้นชาน ระดับพื้นที่เติ๋นยกสูงกว่าชานนี้ภาษาเหนือเรียกว่า “ข่ม”
  6. ต๊อมอาบน้ำ
บริเวณรอบๆบ่อน้ำก็จะปลูกดอกไม้ ต้นไม้ และมีที่อาบน้ำเรียกว่า ต้อมอาบน้ำ มีลักษณะก่อด้วยอิฐ เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ทำประตูเหลื่อมกันไว้เป็นลับแล บางแห่งก็ทำด้วยวัสดุพื้นบ้าน เช่น ไม้ไผ่สานจะไม่มีหลังคา เพื่อให้แสงแดดส่องเข้าถึง พื้นปูด้วยอิฐหรือกรวด มีร่องน้ำทิ้งให้ไหลไปในสวน





เรือนไทยภาคอีสาน

เรือนไทยภาคอีสาน เป็นหนึ่งในเรือนไทย 4 ภาคของไทย แบ่งออกได้เป็นการ ปลูกเรือนในลักษณะชั่วคราว กึ่งถาวร หรือเรือนถาวรประเภทของเรือนอีสาน
  • ลักษณะชั่วคราว
สร้างไว้ใช้เฉพาะบางฤดูกาล เช่น " เถียงนา" หรือ "เถียงไฮ่" ทำยกพื้นสูงเสาไม้จริง โครงไม้ไผ่หลังคามุงหญ้าหรือแป้นไม้ที่รื้อมา จากเรือนเก่า พื้นไม้ไผ่สับฟากทำฝาโล่งหากไร่นาไม่ไกลสามารถไปกลับ ได้ มีอายุใช้งาน 1-2 ปี สามารถรื้อซ่อมใหม่ได้ง่าย
  • ลักษณะกึ่งถาวร
คือกระต๊อบ หรือเรือนเล็ก ไม่มั่นคงแข็งแรงนัก มีชื่อเรียก " เรือนเหย้า" หรือ " เฮือนย้าว" หรือ "เย่าเรือน " อาจเป็นแบบเรือนเครื่องผูก หรือเป็นแบบเรือนเครื่องสับก็ได้ เรือนเหย้ากึ่งถาวรยังมี " ตูบต่อเล้า " ซึ่งเป็นเพิงที่สร้างอิงกับตัวเล้าข้าว และ "ดั้งต่อดิน" ซึ่งเป็น เรือนที่ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดินและใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่ เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกมาจากเรือนใหญ่ เรือนเหย้ากึ่งถาวรอีกประเภทหนึ่ง คือ "ดั้งตั้งคาน" หรือ ดั้งตั้งขื่อ" ลักษณะคล้ายเรือนเกยทั่วไป แต่พิถีพิถันน้อยกว่า อยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูก แตกต่างจากเรือนดั้งต่อดิน ตรงที่เสาดั้งต้นกลาง จะลงมาพักบนคานของด้านสะกัด ไม่ต่อถึงดิน
  • ลักษณะถาวร
เป็นเรือนเครื่องสับหรือเรือนไม้กระดานอาจจำแนกได้เป็น 3 ชนิด คือ คือ เฮือนเกย เฮือนแฝด เฮือนโข่ง ลักษณะใต้ถุนสูงเช่นเดียวกับภาคอื่น ๆ เรือน เครื่องสับเหล่านี้ ไม่นิยมเจาะช่องหน้าต่างมักทำ หน้าต่างเป็นช่องแคบ ๆ ส่วนประตูเรือนทำเป็นช่องออกทางด้านหน้าเรือนเพียงประตูเดียว ภายในเรือนจึงค่อน ข้างมืด เพราะในฤดูหนาวมีลมพัดจัดและอากาศจัดจึงต้องทำเรือนให้ทึบและกันลมได้หลังคาเรือนทำเป็นทรงจั่วอย่างเรือนไทยภาคกลางมุงด้วยกระเบื้องดินเผาหรือกระเบื้องไม้สักจั่วกรุด้วยไม้ตีเกล็ดเป็นรูปรัศมีของอาทิตย์ทั้งสองด้าน รอบหลังคาไม่มีชายคาหรือปีกนกยื่นคลุมตัวบ้านเหมือนอย่างเรือนไทยภาคกลาง
คลิ๊กที่ภาพ

องค์ประกอบของเรือนไทยภาคอีสาน

  • เรือนนอนใหญ่ จะวางด้านจั่วรับทิศตะวันออก-ตะวันตก ส่วนมากจะมีความยาว 3 ช่วงเสา เรียกว่า "เรือนสามห้อง" ใต้ถุนโล่ง ชั้นบนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
    • ห้องเปิง เป็นห้องนอนของลูกชาย มักไม่มีการกั้นห้อง
    • ห้องพ่อ-แม่ อาจกั้นเป็นห้องหรือปล่อยโล่ง
    • ห้องนอนลูกสาว หรือเรียกว่า ห้องส่วม มีประตูเข้ามีฝากั้นมิดชิด หากมีลูกเขยจะให้นอนในห้องนี้
ส่วนชั้นล่างของเรือนนอนใหญ่ อาจใช้สอยได้อีก เช่น กั้นเป็นคอกวัวควาย ฯลฯ
  • เกย คือบริเวณชานโล่งที่มีหลังคาคลุม เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาจากเรือนนอนใหญ่ มักใช้เป็นที่รับแขก หรือที่รับประทานอาหาร ส่วนของใต้ถุนจะเตี้ยกว่าปกติ อาจไว้ใช้เป็นที่เก็บฟืน
  • เรือนแฝด เป็นเรือนทรงจั่วแฝด เช่นเดียวกับเรือนนอน โครงสร้างทั้งคานพื้นและขื่อหลังคา จะฝากไว้กับเรือนนอน แต่หากเป็นเรือนแฝดลดพื้นลงมากกว่าเรือนนอน ก็มักเสริมเสาเหล็กมารับคานไว้อีกแถวหนึ่งต่างหาก
  • เรือนโข่ง มีลักษณะเป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่ แต่ต่างจากเรือนแฝดตรงที่โครงสร้างของเรือนโข่งจะแยก ออกจากเรือนนอนโดยสิ้นเชิง สามารถรื้อถอนออกไปปลูกใหม่ได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเรือนนอน การต่อเชื่อมของชายคาทั้งสองหลังใช้รางน้ำ โดยใช้ไม้กระดาน 2 แผ่น ต่อกันเป็นรูปตัววีแล้วอุดด้วยชันผสมขี้เลื่อย ในกรณีที่เรือนไม่มีครัวก็สามารถใช้พื้นที่ส่วนเรือนโข่งนี้ทำครัว ชั่วคราวได้
  • เรือนไฟ (เรือนครัว) ส่วนมากจะเป็นเรือน 2 ช่วงเสา มีจั่วโปร่งเพื่อระบายควันไฟ ฝานิยมใช้ไม้ไผ่สานลายทแยงหรือลายขัด
  • ชานแดด เป็นบริเวณนอกชานเชื่อมระหว่างเกย เรือนแฝดกับเรือนไฟ มีบันไดขึ้นด้านหน้าเรือน มี "ฮ้างแอ่งน้ำ" อยู่ตรงขอบของ ชานแดด บางเรือนที่มีบันไดขึ้นลงทางด้านหลังจะมี "ชานมน" ลดระดับลงไปเล็กน้อยโดยอยู่ด้านหน้าของเรือนไฟ
  • เสาแฮก (แรก) เสาขวัญ จะยึดเสาคู่ในทางตะวันออก เสาแฮกจะอยู่ด้านในซึ่งเป็นด้านขยายตัวเรือนออกเป็น เฉลียง ชาน ถ้ากรณีหันหัวนอนไปทางทิศใต้ตำแหน่งเสาแฮก-เสาขวัญจะสลับกันกับเสาลักษณะแรก การเลือกเสาคู่นี้ต้องเลือกเสาที่ดี วิธีผูกเสาแฮก-เสาขวัญ การผูกเสาจะใช้สิ่งที่เป็นมงคลและที่มีความหมายเป็นศรีแก่เรือนและผู้อยู่ อาศัยให้มีความเป็นสิริมงคลเช่น ใบยอ ใบคูน ยอดอ้อย กล้วย ไซใส่เงิน-ทอง อัก (เครื่องมือสำหรับเก็บด้ายทอผ้า)